“ภาพลักษณ์” เหนือคู่แข่ง สร้างความแตกต่างในธุรกิจ

“ภาพลักษณ์” ของธุรกิจ สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ความน่าเชื่อถือ สำคัญต่อมุมมอง ทัศนคติ การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ หมายรวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีต่อคู่ค้าทางธุรกิจ และผู้คน ทำได้ด้วยกระบวนการประชาสัมพันธ์ อีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง แม้วัด KPI ได้ยาก และวัดไม่ได้ด้วยตัวเลขยอดขายของธุรกิจก็ตาม 

คุณณฐิณี บัวกด กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์เมส พับลิค รีเลชั่น จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ จะมาแชร์ว่า “การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์” แตกต่างจาก “Branding” ที่หลายคนคุ้นเคยอย่างไร และการสร้างภาพลักษณ์เหนือคู่แข่งให้คุณค่าอะไรกับธุรกิจ

PR (Public Relations) & Branding

PR คำที่มักมาควบคู่กับคำว่า “Branding” แต่แตกต่างกันในเชิงการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการสื่อสารผ่านสื่อ (Media) ซึ่งช่องทางและรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ก็แตกต่างกัน โดยผ่าน 3 ช่องทาง คือ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เราเป็นเจ้าของ (Own Media) เช่น เว็ปไซด์ บล็อก Social media และช่องทางอื่นๆที่สามารถจัดการได้เอง การประชาสัมพันธ์ผ่านการซื้อสื่อ (Paid Media) หรือที่เรียกว่าการซื้อโฆษณาต่างๆ และการประชาสัมพันธ์ผ่านการพูดถึง (Earned Media) ในรูปแบบที่ทำให้ผู้คนพูดถึงเรา ซึ่งขึ้นอยู่กับความเต็มใจของผู้คนที่จะพูดถึงเรา และก็ยากสำหรับแบรนด์ที่จะสร้างให้คนพูดถึงเราในแง่บวกในขณะที่ Branding เป็นภาพพจน์ แนวความคิดในรูปแบบอัตลักษณ์ ตราสินค้าของแบรนด์ ที่สื่อถึงองค์กร สินค้า บริการ ที่แตกต่างจากคู่แข่ง และกลายเป็นส่วนสำคัญของทุกธุรกิจ

“ภาพลักษณ์” เหนือคู่แข่ง

ในธุรกิจที่มีการแข่งขัน ได้ประโยชน์จาก “ภาพลักษณ์”  ผู้คนจะถูกโน้มน้าวจากภาพลักษณ์ที่ปรากฏ หรือจากประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้แก่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่สินค้าของเราดีอย่างไร แต่เป็นการสร้างภาพธุรกิจ มุมมอง ทัศนคติของแบรนด์อย่างไรในสายตาของผู้คน และรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไป

“การประชาสัมพันธ์ (PR)” ยังเป็นเครื่องมือช่วยรับมือจัดการได้ดีอีกอย่าง นั่นคือ การจัดการภาวะวิกฤต “ Crisis Management ” การกู้วิกฤตของสถานการณ์ที่แบรนด์ได้รับผลกระทบ และสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกภายใต้การเกิดวิกฤตในธุรกิจ ซึ่งการจัดการภาวะวิกฤตจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว มีความชัดเจน และความน่าเชื่อถืออย่างทรงประสิทธิภาพ เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยที่ไม่ทำให้สถานการณ์นั้นแย่ลง