‘ยาส-อำพล’ ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 14 – ย้ำ 11 นโยบายพรรคภูมิใจไทย

การเข้าใจความต่างของทุกศาสนาถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานของคนภูมิใจไทย

อำพล ขำวิลัย หรือ อิลยาส (บังยาส) ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.กรุงเทพมหานคร เขต 14 บางกะปิ – วังทองหลาง (เฉพาะคลองเจ้าคุณสิงห์) เผยว่า ความเข้าใจความต่างและหลักการของทุกศาสนา มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ตนและพรรคภูมิใจไทย มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะผลักดันนโยบายต่อพี่น้องมุสลิม อย่างเป็นรูปธรรม

พื้นที่เขต 14 หรือย่านบางกะปิ มีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนไม่น้อย ‘อำพล’ ในฐานะ ‘มุสลิม’ คนหนึ่ง ก็อยากผลักดันเรื่องนี้ให้เต็มกำลังความสามารถ เพราะเชื่อว่าการทำความเข้าใจความต้องการของประชาชน นับเป็นพื้นฐานอันสำคัญ ของผู้แทนและพรรคการเมือง โดยพรรคภูมิใจไทย ได้แถลงนโยบายต่อชาวไทยมุสลิมทั้งสิ้น 11 ข้อ โดย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านกิจการศาสนาอิสลาม, นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรค และ น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

  • แก้ไข พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ประเด็นการได้มาของจุฬาราชมนตรี ที่ต้องการให้อิหม่ามเข้ามามีส่วนร่วมลงคะแนนเลือกตั้ง
  • จัดตั้ง “องค์กรกำกับดูแลส่งเสริมกิจการพิธีฮัจญ์” เป็นหน่วยงานอิสระ คล้ายกับองค์กร Tabung Haji ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทุกประเทศในโลก โดยจะต้องลดค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
  • จัดตั้ง “แผนกคดีครอบครัว และมรดกอิสลาม” ในศาลชั้นต้น เพื่อพิจารณาคดีทางแพ่งที่คู่กรณีเป็นมุสลิม
  • จัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมกิจการซะกาต” เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินบริจาคได้ตามหลักศาสนา
  • จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เปลี่ยนเสียงระเบิด เป็นเสียงเครื่องจักร เปลี่ยนงบลับ เป็นงบลงทุน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในพื้นที่
  • สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ โดยใช้แนวทาง “การเมือง” นำ “การทหาร” โดยยกเลิกกฎหมายพิเศษ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แก้กฎอัยการศึก และให้ผู้หญิงเข้าร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพ
  • กำหนดให้มีค่าตอบแทนจากรัฐฯ ให้กับ “ตาดีกา” หรือ “ฟัรดูอีน” ซึ่งจากเดิมที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ่ายให้เฉพาะ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางอำเภอใน จ.สงขลา โดยแท้จริงแล้วควรมอบค่าตอบแทนให้กับ “ตาดีกา” หรือ “ฟัรดูอีน” ทุกจังหวัดที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่
  • การยืมเงินสหกรณ์ ไม่มีดอกเบี้ย
  • ปรับปรุงปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบททางศาสนา และอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ให้มีฝ่ายกิจการสตรีและครอบครัวอยู่ในโครงสร้างของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทุกจังหวัด
  • ตั้งห้องแล็บตรวจสอบอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลโดยเฉพาะ ไม่ปนกับอาหารอื่น เพื่อความบริสุทธิ์
    ‘ยาส-อำพล’ ทิ้งท้ายถึงพี่น้องมุสลิม ว่าขอให้เชื่อมั่นในเรื่องนี้ ว่าตนและพรรคจะผลักดันนโยบายทั้งหมดอย่างเต็มที่ ตามอุดมการณ์ของพรรคภูมิใจไทย คือ “พูดแล้วทำ”