BEDO นำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

BEDO นำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2566 นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) พร้อมด้วยนายศุภสิทธ์ จำปาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจชีวภาพ นางสาวรุจิรา พงศ์พลูทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจชีวภาพ และเจ้าหน้าที่ เข้าพบนายปริญญา เขมะชิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ณ ห้องประชุมพลายแก้ว ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของ BEDO ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และแนะนำโครงการและกิจกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการปลูกสมุนไพรในสวนป่า 2) เพิ่มศักยภาพการบูรณาการเชิงพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุพรรณบุรี และ 3) กิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยมี ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดร.วีรศิลป์ สอนจรูญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดสุพรรณบุรี อาทิเช่น สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (สวนป่าองค์พระ) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้ง ชุมชนเครือข่าย BEDO พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ทางจังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และสามารถสนับสนุน/ต่อยอดการดำเนินการได้ต่อไปในอนาคต โดยชุมชนเครือข่าย สพภ. ได้นำผลิตภัณฑ์/สินค้าที่เป็นผลผลิตจากการสนับสนุนของ BEDO มาจัดแสดงและนำเสนอต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีก่อนเริ่มการประชุมฯ ด้วย

  • ผลการทดสอบการปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่สวนป่าองค์พระ ต. ด่านช้าง อ. ด่านช้าง ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการปลูกสมุนไพรในสวนป่า พบว่าสามารถปลูกพืชสมุนไพรเสริมในสวนป่าได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพ โดยสามารถผลิตสารสำคัญได้ในระดับค่อนข้างสูง เช่น ฟ้าทะลายโจร มีแลคโตนรวม ร้อยละ 12.71 และ ขมิ้นชัน (อายุ 5 เดือน) มีสารฟีนอลรวม ร้อยละ 20.35 ทั้งนี้ BEDO และ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จะได้นำผลการศึกษานี้ไปส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่สวนป่าเพาะปลูกสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ และขยายผลในพื้นที่สวนป่าอื่นๆ ต่อไป
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือทิ้งในกระบวนการแปรรูปแห้ว ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการบูรณาการเชิงพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตามหลัก BCG Model ได้แก่ 1) กระดาษแห้วจากต้นแห้ว ซึ่งมีคุณสมบัติเนียนเรียบกว่ากระดาษจากเยื่อพืชชนิดอื่น และ 2) สบู่เจลลี่ และสบู่สครับ จากเปลือกแห้ว ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อผิวพรรณ โดย BEDO ได้รับความร่วมมือจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม. แปรูปผลิตภัณฑ์แห้ว ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ เข้าร่วมโครงการ และจะส่งเสริมให้ชุมชนสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ในระดับชุมชน และผลักดันความร่วมมือกับภาคธุรกิจต่อไป
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ในระหว่างปี 2563-2565 โดย BEDO ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถยกระดับและสร้างรายได้ ผ่านการอบรม ศึกษาดูงาน และ สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินธุรกิจระดับชุมชน จำนวน 5 ชุมชน ดังนี้ 1) วิสาหกิจชุมชนบ้านดอน ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง ผลิตพืชสมุนไพรสมุนไพรตากแห้ง และ สมุนไพรอบและนวดตัว 2) วิสาหกิจชุมชนบ้านโพธิ์ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง ผลิตธัญพืชประคบ และ เครื่องสำอางสมุนไพร 3) วิสาหกิจชุมชนโลกยิ้ม ต.หนองกระทุ่ม อ.เดิมบางนางบวช ผลิตจานใบไม้ และ เครื่องสำอางสมุนไพร 4) วิสาหกิจชุมชนบ้านโป่งค่าง ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง ผลิตสินค้าแกะสลักจากไม้และเศษไม้สัก และ 5) วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิต ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง ผลิตสมุนไพรอบ บด แห้ง ชาดอกไม้ และน้ำมันนวดสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ BEDO ได้เสนอขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานจากจังหวัดสุพรรณบุรี ดังนี้

  • การรับรองมาตรฐาน GAP สำหรับการปลูกพืชสมุนไพรโดยชุมชน
  • การจัดสรรตลาดรองรับผลิตภัณฑ์จากชุมชน เช่น ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP ศูนย์จำหน่ายสินค้าภาคเอกชน หรือที่หอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรีให้การสนับสนุน และ การจัดทำของที่ระลึกหรือบรรจุภัณฑ์จากเศษไม้พร้อมตราสัญญลักษณ์ของหน่วยงาน และ
  • การสนับสนุนให้โรงพยาบาลอู่ทองรับซื้อสมุนไพรตากแห้งจากชุมชน และการจับคู่กลุ่มธุรกิจรับซื้อสมุนไพรตากแห้งจากชุมชน